ข้อค้นพบ บทเรียน และข้อเสนอแนะ ของบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยระบบโทรเวชกรรม

ถอดความจากการสัมมนาออนไลน์ Safe Abortion Dialogue in Asia
เรื่อง Self-managed Abortion and Telehealth
วันที่ 25 มิถุนายน 2564

 

จากแนวทางการดำเนินการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยโทรเวชกรรมในช่วงที่มีการระบาดโควิด 19 ของหลาย ๆ ประเทศ มีข้อค้นพบ บทเรียน และข้อเสนอแนะในการดำเนินงานให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยโทรเวชกรรมที่น่าสนใจหลายประเด็นดังนี้ 

“การให้บริการยายุติการตั้งครรภ์ในระบบโทรเวชกรรม เป็นทั้งทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสเลือก และเป็นทางออกสำหรับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์เลือก” 

มีการศึกษาในประเทศเยอรมัน พบว่า ผู้หญิงที่เลือกรับบริการยุติการตั้งครรภ์ทางโทรเวชกรรมที่อยู่นอกระบบบริการสุขภาพปกติ แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ 

  1. ผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจและมีสิทธิที่จะรับบริการในระบบบริการสุขภาพของรัฐ ตามสิทธิพลเมืองก็เลือกรับบริการในระบบนี้ ด้วยเหตุผลความเป็นส่วนตัวและอิสรภาพในการตัดสินใจต่อเนื้อตัวร่างกายตนเอง
  2. ผู้ที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น เยาวชน ผู้มีฐานะยากจน แรงงานต่างชาติที่ไม่มีเอกสารรับรอง หรือผู้ที่ไม่สามารถขอรับบริการในระบบได้ เนื่องจากไม่ใช่พลเมือง หรือ ผู้ที่อยู่ในสถานะหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยให้เข้ารับบริการของรัฐได้ จึงต้องใช้บริการนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา และอคติทางเชื้อชาติในระหว่างกระบวนการการรับบริการ

การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาตามแนวโทรเวชกรรมนี้ จึงควรได้รับการขยายบริการให้ครอบคลุมไปยังทุก ๆ คน ทั้งบุคคลทั่วไป และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ระบบควรต้องเตรียมความพร้อม และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการว่า จะได้รับบริการโดยไม่ถูกปฏิบัติด้วยอคติ หรือการตีตราผู้มารับบริการ

“ผู้ให้บริการควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ โดยให้อำนาจในการตัดสินใจเป็นของผู้รับบริการ และเชื่อมั่นว่าผู้รับบริการสามารถดูแลตนเองได้” 

แม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า การยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องการดูแลการแท้งด้วยตนเองที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ว่ามีความปลอดภัยสูง เมื่อยุติการตั้งครรภ์ในสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมและมีความปลอดภัย แต่ผู้ให้บริการยังคงตั้งคำถาม และมีทัศนคติที่ไม่เชื่อมั่นว่าผู้รับบริการจะสามารถดูแลการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ รวมทั้งไม่เชื่อมั่นว่า ผู้รับบริการจะสามารถดูแลร่างกาย และสุขภาพของตัวเองหลังจากการแท้งได้ ฯลฯ 

ทั้งนี้พบว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายในระบบบริการสุขภาพ รวมถึงผู้ให้บริการมักจะตั้งหลักเกณฑ์เข้มงวด ต่อรายละเอียดและขั้นตอนการขอรับบริการของผู้หญิงโดยไม่จำเป็น คำถามสำคัญที่ผู้ให้บริการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนประเด็นนี้จะต้องถามตนเองคือ เราพร้อมที่จะเชื่อมั่นในตัวผู้รับบริการ และสนับสนุนให้ผู้รับบริการตัดสินใจด้วยตนเองได้มากเพียงใด นี่เป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการและบุคลากรทางการแพทย์ที่จะยืนหยัด และแสดงความเชื่อมั่นว่าผู้หญิง หรือผู้รับบริการมีความสามารถในการตัดสินใจและสามารถดูแลร่างกายของตนเองได้

การให้อำนาจในการตัดสินใจในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ให้เป็นของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายเป็นผู้ตัดสินใจเองเป็นหลัก จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ช่วยเหลือ สนับสนุนและเตรียมสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและพร้อมช่วยเหลือ หากผู้รับบริการตัดสินใจทำแท้งแล้วมีความจำเป็นใด ๆ ต้องรับความช่วยเหลือ ผู้ให้บริการต้องเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้รับบริการมารับการรักษาด้วยความรู้สึกสบายใจ ใส่ใจต่อความรู้สึกกลัวต่อการถูกตีตรา หรือกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่ากระทำสิ่งผิดกฎหมาย  

“องค์กรต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนเรื่องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทางโทรเวชกรรมต้องติดตาม และผลักดันให้นโยบายให้บริการทางโทรเวชกรรมยังคงดำเนินต่อไป แม้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทุเลาลง หรือกลับมาสู่ภาวะปรกติ”

ความต้องการในการยุติการตั้งครรภ์มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดหรือไม่ และการดำเนินงานของหลาย ๆ ประเทศที่ผ่านมาทำให้เราเห็นแล้วว่า การทำแท้งด้วยยา สามารถทำได้อย่างปลอดภัยและเป็นทางเลือกสำหรับผู้รับบริการ โดยเฉพาะการให้บริการทางโทรเวชกรรมที่สะดวก ปลอดภัย และสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดของหลาย ๆ ประเทศเริ่มลดลงและปรับเข้าสู่สภาวะปรกติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดโนบาย กลับมีความพยายามที่จะยกเลิกการให้บริการการทำแท้งด้วยยาทางโทรเวชกรรม ทั้งที่ข้อมูลต่างๆ ชี้ชัดว่า การให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยามีความปลอดภัยอย่างมาก และควรถูกนำไปปรับใช้ในระบบบริการสุขภาพต่อไป และพัฒนาให้เป็นระบบอย่างถาวร และนั่นเป็นความท้าทายขององค์กรต่าง ๆ ให้ต้องติดตามและผลักดันรูปแบบการให้บริการนี้ต่อไป

เขียนโดย แอดมิน