ผลการให้บริการและความคิดเห็นต่อบริการ Telemedicine นำร่องในช่วงโควิด19 ฯ

ผลการให้บริการและความคิดเห็นต่อบริการ Telemedicine นำร่องในช่วงโควิด19
ในระบบความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาลต้นทาง-ปลายทาง
ของผู้ให้การปรึกษา บริการสุขภาพและสังคม และนักวิชาการสาธารณสุข[1]

[1] พัฒนาโดย โครงการอาสาพัฒนาส่งต่อบริการที่ปลอดภัย สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA ร่วมกับ เครือข่ายอาสา RSA สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 กลุ่มทำทาง กองบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัด และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนเงินทุนโดย สสส. (มกราคม 2565)

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ส่งผลให้หน่วยบริการสุขภาพจำนวนหนึ่งหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ชั่วคราว หลายแห่งจำกัดขอบเขตการรับส่งต่อเฉพาะในอำเภอหรือจังหวัดของตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการรับและแพร่เชื้อ จึงได้เกิดความร่วมมือของเครือข่ายการทำงานด้านปรึกษา-ส่งต่อ และบริการสุขภาพ เพื่อพัฒนาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในระบบโทรเวช (Telemedicine) โดยขั้นตอนการให้บริการยังคงใช้แนวทางของกระบวนการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม จากการที่ผู้รับบริการเดินทางไปพบแพทย์ไม่ได้ในช่วงโควิด 19 จึงให้ยายุติการตั้งครรภ์เดินทางไปที่ผู้รับบริการด้วยการจัดส่งยา โดยปรึกษาท้องไม่พร้อมทางโทรศัพท์หรืออินบ๊อกทางเพจ ส่งต่อแพทย์เพื่อซักประวัติและส่งผลอัลตราซาวด์ทางไลน์ ดูแลรักษาระหว่างแท้งทางไลน์ และร่วมกันติดตามหลังการรักษาทางโทรศัพท์และไลน์

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้าในวงกว้าง ความรุนแรงของการแพร่ระบาดในรอบนี้ ส่งผลให้มีสถานพยาบาลหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น หอผู้ป่วยในที่เคยใช้สำหรับการดูแลการยุติการตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ต้องปิดตัวลง เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดจึงได้มีการพัฒนาการให้บริการ Telemedicine นำร่องในระบบความร่วมมือระหว่างสถานพยาบาลต้นทาง-ปลายทาง ร่วมกับกองบริหารการสาธารณสุข สำนักปลัด ที่ดูแลศูนย์พึ่งได้ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และศูนย์อนามัยนำร่องในโครงการอาสาพัฒนาการส่งต่อที่ปลอดภัย คือ ศูนย์อนามัยเขต 2 6 8 และ 11 มีการเก็บข้อมูลการให้บริการและความคิดเห็นต่อความร่วมมือตามแนวทางนี้ในเดือนมกราคม 2565 โดยค่อย ๆ เริ่มกระบวนการส่งต่อในระบบนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564

แนวทางและเงื่อนไขสำคัญในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในระบบโทรเวช เป็นผลจากการประชุม และการพัฒนาการส่งต่อในช่วงโควิด โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ เครือข่ายอาสา RSA สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 และกลุ่มทำทาง ร่วมกับสำนักบริหารการสาธารณสุข เพื่อกำหนดเกณฑ์ของการให้บริการในระบบโทรเวชที่จะต้องมีโรงพยาบาลที่ผู้รับบริการอาศัยอยู่ร่วมดูแลด้วย โดยพิจารณาการเข้าข่ายใน 2 กรณีคือ 1) ผู้ที่มีอายุครรภ์เกินกว่า 12 สัปดาห์ หรือ 2) ผู้รับบริการทุกอายุครรภ์ที่มีความเปราะบางในด้านต่าง ๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ได้แก่ อายุน้อย มีปัญหาจิตสังคม มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ มีปัญหาสุขภาพกายที่ส่งผลต่อการยุติการตั้งครรภ์

เนื้อหาประกอบไปด้วย

  1. บทนำ
  2. การให้บริการโทรเวชในระบบความร่วมมือ
  3. ความเห็นของผู้เกี่ยวข้องการให้บริการโทรเวชในระบบความร่วมมือ
  4. ความเห็นต่อบริการโทรเวชในระบบความร่วมมือ
  5. ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามแนวทางนี้
  6. ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาบริการโทรเวชในระบบความร่วมมือในอนาคต

ผลการให้บริการและความคิดเห็น Telemedicine

เขียนโดย admin