ประสบการณ์โทรเวชกรรมในการยุติการตั้งครรภ์ ของประเทศในกลุ่มเอเชียกลาง-ใต้ และกลุ่มประเทศอาเซียน

ถอดความจากการสัมมนาออนไลน์ Safe Abortion Dialogue in Asia
เรื่อง Self-managed Abortion and Telehealth
วันที่ 25 มิถุนายน 2564 

1. ประเทศศรีลังกา

ประเทศศรีลังกา การทำแท้งยังคงผิดกฎหมาย แต่บริการดูแลหลังยุติการตั้งครรภ์ (Post-Abortion Care) เป็นบริการที่ถูกกฎหมายและเข้าถึงได้ในโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ในปี พ.. 2558 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคู่มือวิธีการจัดการและดูแลการแท้งที่ไม่สมบูรณ์ และคู่มือให้บริการปรึกษาด้านการคุมกำเนิด ในคู่มือได้กล่าวถึงยาไมโซพรอสทอล (Misoprostol) ซึ่งเป็นยาที่สามารถใช้ในการยุติการตั้งครรภ์ได้ และได้รับการขึ้นทะเบียนยาในประเทศศรีลังกาแล้ว ผู้หญิงสามารถเข้าถึงยานี้ได้ตามร้ายขายยาและโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง หรือเข้าถึงยาผ่านแหล่งบริการจากประเทศข้างเคียง หรือผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต โดยมีบริการสายด่วนในประเทศที่ช่วยเหลือให้คำปรึกษาในเรื่องวิธีการใช้ยา และวิธีสังเกตอาการข้างเคียงและอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยานี้ได้ เนื่องจากผู้ที่ต้องการบริการส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่แต่งงานและมีบุตรที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รายงานจากการศึกษาระหว่างปี พ.. 2449 – 2559 รัฐบาลศรีลังกาประเมินว่ามีการทำแท้ง 685 ครั้งต่อวัน และ 94% ของผู้ที่ทำแท้งเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีบุตรแล้ว

2. ประเทศอินเดีย 

กฎหมายอินเดียอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้มาตั้งแต่ปี พ.. 2514 โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดที่ขยายเพดานอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ในกรณียกเว้นต่าง ๆ จากเดิมสูงสุดที่ 20 สัปดาห์ เป็น 24 สัปดาห์ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 มีผลระทบต่อแผนงานวางแผนครอบครัวในประเทศอินเดีย มีการประเมินว่า ผู้หญิง 27 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ และมีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์มากถึง 2.9 ล้านครั้ง โดยที่ผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการระบาดมีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ ทำให้อายุครรภ์สูงขึ้นจนอาจเกินข้อกำหนดในการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายได้ 

เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในประเทศอินเดียนั้น มีไม่เพียงพอในการให้บริการ ทั้งข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือ ยา และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทำให้การเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น แต่แม้กฎหมายจะอนุญาตการทำแท้ง แต่กลับไม่เอื้อต่อการให้บริการโทรเวชกรรม เนื่องจากมีข้อกำหนดในการให้บริการว่าต้องเป็นผู้ให้บริการที่ได้ผ่านการอบรม 2 สัปดาห์ สำหรับการบริการยุติการตั้งครรภ์แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถให้บริการได้ โดยที่ประเทศอินเดียมีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน แต่มีแพทย์เพียง 19,000 คน ที่ผ่านการอบรมและสามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้ตามกฎหมาย

ด้านบวกที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 คือรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัวให้กับประชาชน โดยรัฐบาลได้ออกคู่มือการใช้โทรเวชกรรมในการให้บริการสาธารณสุข รวมถึงการให้บริการอนามัยเจริญพันธุ์ แต่กลับไม่ได้บรรจุการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาอยู่ในรายชื่อบริการที่สามารถให้บริการผ่านโทรเวชกรรมได้กลายเป็นพื้นที่สีเทาที่ไม่ชัดเจนและเป็นความท้าทายของผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม องค์กรที่เกี่ยวข้องพยายามให้บริการยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยทางโทรเวชกรรม โดยมีการให้บริการผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในการให้ข้อมูล ทั้งด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบริการยุติการตั้งครรภ์ รวมถึงการส่งต่อผู้ที่ต้องการรับบริการไปยัง ผู้ให้บริการผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ การดำเนินงานตามแนวทางนี้ประสบความสำเร็จและส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขประเทศอินเดีย จะพิจารณาการนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในระบบโทรเวชกรรมอย่างเป็นทางการต่อไป  

3. ประเทศอินโดนีเซีย

มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาที่ปลอดภัย ได้แก่ องค์กร Samsara เป็นสายด่วนที่ให้บริการคำแนะนำเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาด้วยตนเอง ตามคู่มือขององค์การอนามัยโลก และมีองค์กร IPPA (Indonesian Planned Parenthood Association) ที่เดิมทีให้บริการช่วยเหลือทั้งการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาและด้วยเครื่องมือแพทย์ แต่ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 มีการเอาระบบโทรเวชกรรมเข้ามาปรับใช้เพื่อให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา เนื่องจากมีการประกาศล็อคดาวน์ทำให้การไปรับบริการที่สถานพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่ต้องไปรับบริการต่างเมืองเป็นไปได้อย่างยากลำบาก อย่างไรก็ดี การให้บริการโทรเวชกรรมในประเทศอินโดนีเซีย ยังมีข้อจำกัดและความท้าทายหลายประการ เนื่องจากกฎหมายทำแท้งของประเทศอินโดนีเซีย สามารถทำได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินตามข้อยกเว้นต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์จากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ  จึงจำเป็นต้องส่งต่อผู้ที่ต้องการรับบริการด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจหรือเหตุผลอื่น ๆ ไปยังองค์กรนานาชาติ เช่น Women on Web เพื่อให้ได้รับบริการ  

เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียยังไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนด ที่ช่วยปกป้องความปลอดภัยทางดิจิทอลด้านข้อมูลให้กับหน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป องค์กรยังต้องหาเครื่องมือหรือวิธีการสำรองและจัดเก็บข้อมูลของผู้มารับบริการให้มีความปลอดภัยด้วย หากในอนาคตจะปรับใช้การให้บริการโทรเวชกรรมทั้งหมด 100% ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้มารับบริการจะเป็นข้อกังวลหลักที่จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการต่อไป

4. ประเทศกัมพูชา 

แม้การทำแท้งในประเทศกัมพูชาจะสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่ปี พ.. 2540 แต่การทำแท้งกลับเข้าถึงได้ยากเนื่องจากค่าบริการที่ค่อนข้างแพง ผู้ให้บริการที่มีความชำนาญในด้านนี้มีจำนวนไม่มาก และเครื่องมือหรือยาที่ใช้ในการให้บริการมีอยู่จำกัด 

องค์กร PSI (Population Services International) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานในประเทศกัมพูชา มีบทบาทสำคัญในการกระจายยายุติการตั้งครรภ์ไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.. 2556  เป็นต้นมา ได้กระจายยาออกไปยังสถานพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านชุด นอกจากนี้องค์กรยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบสำหรับการกระจายบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาที่ยั่งยืน ให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยา และบริการดูแลหลังการแท้งได้มากยิ่งขึ้น ทำให้อัตราการใช้บริการการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ทาง PSI ยืนยันว่าการทำแท้งด้วยยาเป็นวิธีการที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย และผู้หญิงเลือกรับบริการด้วยวิธีนี้มากกว่าวิธีการยุติการตั้งครรภ์อื่น ๆ การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ไม่มีผลเสียร้ายแรง โดยที่ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องมีผลตรวจเลือดหรือผลตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อยืนยันอายุครรภ์ก่อนรับบริการก็ได้ (ยกเว้นกรณีแพทย์มีความเห็นให้ตรวจเลือดก่อนรับบริการเพื่อวินิจฉัยปัญหาสุขภาพอื่น ๆหากผู้หญิงต้องการขอรับการปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือระหว่างการใช้ยา ก็สามารถติดต่อที่สายด่วนที่ให้บริการได้ทันที โดยที่สายด่วนจะให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ การดูแลการแท้งด้วยตนเอง รวมถึงการวางแผนครอบครัวหลังการแท้งด้วย โดยในปี พ.. 2563 มีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งไปกว่า 2,000 ราย และให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนครอบครัวหลังการแท้งไปกว่า 500 ราย

การให้บริการของ PSI สายด่วนให้การปรึกษามีบทบาทในการเป็นด่านหน้าที่จะให้ข้อมูลและบริการที่จำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการรับบริการ มีการรายงานอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ให้กับทีมเบื้องหลังที่ดูแล ช่วยประสานงานระหว่างผู้รับบริการกับโรงพยาบาลในกรณีจำเป็นต้องรับการดูแลรักษาเพิ่มเติม และติดตามผลกับผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีทีมที่ดูแลข้อมูลการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่เหมาะสมด้วย ถือได้ว่าเป็นสายด่วนที่สามารถช่วยเหลือให้บริการผู้ที่ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาได้อย่างครบถ้วนรอบด้านในที่เดียว

สรุป ปัญหาและข้อท้าทาย จากการดำเนินการใช้บริการโทรเวชกรรม

  1. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ โดยทางเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ศรีลังกา พม่า ฯลฯ
  2. แม้ในประเทศที่ประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แต่ประชากรบางกลุ่มไม่มีทักษะในการจะเข้าถึงข้อมูล จึงจำเป็นต้องอาศัยการทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับบริการเหล่านี้ไปยังผู้ใหญ่หรือคนกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนให้มีชุดข้อมูลที่จำเป็นนี้
  3. การถูกรัฐควบคุม เซนเซอร์ หรือแบนการให้บริการของบางองค์กรทั้งในประเทศและองค์กรนานาชาติทำให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการที่อยู่บนเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นไปได้ยากมากขึ้น 
  4. การถูกแหล่งบริการที่ไม่ปลอดภัย นำชื่อองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือไปแอบอ้างบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้รับบริการเกิดความสับสน หรือเข้าใจผิด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีความชำนาญ ในการตรวจสอบแหล่งข้อมูลต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต
  5. กฎหมายที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์และการควบคุมประชากรที่มีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้เกิดความซับซ้อนและสับสนในการตีความ ทำให้การดำเนินงานจริงเป็นไปได้ยากลำบาก เช่น ในกรณีประเทศอินเดียที่การทำแท้งถูกกฎหมาย แต่มีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการเลือกเพศบุตร

 

เขียนโดย admin