แนวคิดหลักของ Self -Managed Abortion และการปรับใช้ในภาพรวม

ถอดความจากการสัมมนาออนไลน์ Safe Abortion Dialogue in Asia
เรื่อง Self-managed Abortion and Telehealth
วันที่ 25 มิถุนายน 2564

 

IPPF หรือ International Planned Parenthood Federation ได้ออกแถลงการณ์ในเดือนมิถุนายน พ.. 2564 ระบุว่า IPPF ทำความเข้าใจการดูแลการแท้งด้วยตนเอง (Abortion self-care) ในฐานะสิทธิอย่างหนึ่งของผู้หญิง ที่จะดูแลและจัดการบางส่วนของกระบวนการ หรือตลอดกระบวนการแท้งของตนเองด้วยตนเองได้ โดยอาจได้รับความช่วยเหลือดูแลจากผู้ให้บริการสุขภาพหรือไม่ก็ได้

Abortion Self-care หรือการดูแลการแท้งด้วยตนเองนั้น ยึดความต้องการและให้อำนาจ การตัดสินใจต่อสุขภาพและร่างกายตนเองของผู้หญิงเป็นหลัก ผู้อื่นที่อยู่รอบข้างหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในกระบวนการการดูแลการแท้งของผู้หญิง มีหน้าที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้การดูแล การแท้งนั้นเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยต้องเป็นไปตามองค์ประกอบ 3 อย่างดังต่อไปนี้ 

  1. การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำเกี่ยวกับการดูแลการแท้งด้วยตนเอง และทำให้ข้อมูลเหล่านี้เข้าถึงผู้หญิงได้โดยง่าย
  2. การช่วยเหลือให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ในราคาที่ไม่แพง 
  3. การให้การดูแลรักษาตามอาการ

ขณะเดียวกัน FIGO หรือ International Federation of Gynecology and Obstetrics ได้ออกแถลงการ เพื่อสนับสนุนการนำบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาทางโทรเวชกรรมมาใช้อย่างถาวร โดยได้แนะนำต่อรัฐบาลทั่วโลกให้ลงทุนกับการเสริมศักยภาพการให้บริการโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการหลักอีกช่องทางหนึ่งอย่างถาวร

จากการปรับรูปแบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์มาใช้รูปแบบโทรเวชกรรมในระหว่างที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในหลายประเทศ เช่นประเทศอังกฤษ และเวลส์ รวมถึงประเทศออสเตรเลียที่มีการให้บริการแบบส่งตรงถึงผู้รับบริการ (Direct-to-patient) ตั้งแต่ปี พ.. 2558 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจ่ายยายุติการตั้งครรภ์ด้วยระบบโทรเวชกรรมมีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับ โดยที่ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องมีผลตรวจอัลตราซาวด์ก่อนเข้ารับบริการ ได้รับการยอมรับว่าเป็นบริการที่มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพงและเป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ 

นอกจากนี้ จากรายงานการศึกษาการให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยด้วยยา  ทางโทรเวชกรรมโดยองค์กร Women on Web จนถึงปี พ.. 2560 พบว่าการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้ายยาทางโทรเวชกรรมเป็นที่ยอมรับ มีอัตราการแท้งสมบูรณ์สูง กล่าวคือ ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 10 สัปดาห์ อัตราการแท้งสำเร็จอยู่ที่ 93.8% – 96.4% และมีความปลอดภัยไม่ต่างจากการรับบริการ ยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิก อีกทั้งยังไม่มีผลกระทบในแง่ลบต่อทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ 

ตลอดหลายทศวรรษแห่งการค้นพบและพัฒนาการให้บริการยายุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จนถึงการให้บริการผ่านระบบโทรเวชกรรม นับตั้งแต่การสังเกตและบังเอิญพบความเป็นไปได้ในการใช้ยาไมโซพรอสทอลในการทำให้เกิดการแท้งตามธรรมชาติโดยผู้หญิงชาวบราซิลคนหนึ่ง นำมาสู่การค้นคว้าและศึกษาวิจัยตัวยาชนิดนี้กว่า 2 ทศวรรษโดยแพทย์และนักวิจัย จนเห็นความเป็นไปได้และศักยภาพของการนำยาชนิดนี้มาใช้ยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาทางการแพทย์ในช่วงปี 2543 

ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งและกลุ่มนักสตรีนิยม ที่ต้องการช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย พยายามหาหนทางช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการและให้การปรึกษาผ่านทางโทรศัพท์และผลักดันนโยบายให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งที่ผลอดภัยได้ โดยตลอด 1 ทศวรรษหลังจากนั้น องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา และยุโรปได้ให้บริการการทำแท้งด้วยยาด้วยตนเองทางโทรเวชกรรม อีกทั้งยังสร้างเครือข่ายสนับสนุนการทำแท้งด้วยที่ยาปลอดภัยในพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนในทุกสถานการณ์ด้วย

กล่าวโดยสรุป 

การทำแท้งด้วยยา และการดูแลการแท้งด้วยตนเองนั้นได้รับการยอมรับแล้วว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง ได้รับการยอมรับและแนะนำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน รวมถึงองค์การอนามัยโลกด้วย จึงควรพิจารณาให้การทำแท้งด้วยยา เป็นวิธีหลักในการให้บริการทำแท้งอย่างทั่วถึง นอกจากนี้การให้บริการยายุติการตั้งครรภ์ในรูปแบบโทรเวชกรรมแบบส่งตรงถึงมือผู้รับบริการ ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นช่องทางการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ 

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ขีดความสามารถทางสาธารณสุขมีข้อจำกัด อย่างเช่นในช่วงที่เกิดโรคระบาดอีกด้วย ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ได้ทันเวลา โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาล จึงสามารถช่วยลดความแออัด ลดโอกาสการแพร่เชื้อไวรัส และลดภาระงานของแพทย์ที่อยู่หน้างานด้วย อีกทั้งการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ยังเป็นบริการมีความอ่อนไหวต่อเรื่องระยะเวลา ไม่สามารถรอจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดลดลงได้ การให้บริการยายุติการตั้งครรภ์ทางโทรเวชกรรมจึงเป็นทางออกในการบริการที่สำคัญ และควรนำมาปรับใช้ทันทีเพื่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้หญิง

 

 


  1.  IMAP Statement Abortion Self-Care ดูแถลงการณ์ฉบับเต็ม: https://www.ippf.org/resource/imap-statement-abortion-self-care

  2. แถลงการณ์ฉบับเต็ม: https://www.figo.org/FIGO-endorses-telemedicine-abortion-services

  3.  รายงานการศึกษาฉบับเต็มhttps://obgyn.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/1471-0528.15684

เขียนโดย admin