ตามรอยการเดินทาง เครือข่ายอาสา RSA

เครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หรือ Referral system for Safe Abortion (RSA) ที่ต่อไปจะขอเรียกสั้น ๆ ว่า “เครือข่ายอาสา RSA”เป็นการรวมตัวกันของแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และสหสาขาวิชาชีพทางด้านสุขภาพ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ที่เล็งเห็นถึงปัญหาการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย (การทำแท้งเถื่อน) ในสังคมไทย จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การตกเลือด การติดเชื้อในโพรงมดลูก ความรู้สึกผิดบาปจากการทำแท้งของตัวผู้หญิงเอง การถูกด้อยค่าและการถูกตีตราจากสังคม ไปจนถึงการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหลังการทำแท้ง

หรือการทำร้ายตัวเองเมื่อถูกปฏิเสธจากการทำแท้ง บุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้จึงได้รวมตัวกันในการพัฒนาระบบส่งต่อเพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่เดิมอยู่ในลักษณะ “ใต้ดิน” ให้ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอื่น ๆ อีกหลายองค์กร

เครือข่ายอาสา RSA เป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวในแวดวงสาธารณสุขที่น่าสนใจ เนื่องจากบริการยุติการตั้งครรภ์หรือผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เองที่แม้จะเป็นแพทย์/สูติแพทย์ก็ถูกสังคมตีตราด้วยเช่นกัน ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่เปลืองตัว ไม่เปิดเผยต่อสังคมว่าให้บริการนี้อยู่การรวมตัวกันของผู้ให้บริการ “ทำแท้ง” หลากหลายวิชาชีพ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ จึงปรากฏการณ์ในแวดวงการแพทย์และการสาธารณสุขไทยอยู่ไม่น้อย

การจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management; KM) เป็นเครื่องมือ หนึ่งที่จะช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวในแต่ละจังหวะก้าวของ เครือข่ายอาสา RSA มากยิ่งขึ้น ว่าเครือข่ายนี้ตั้งขึ้นมาได้เพื่ออะไร มีแนวคิดใน การดำเนินงานอย่างไร ผลการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสังคมไทย เป็นไปในรูปแบบไหน ความรู้สึกลึก ๆ ที่อยู่ภายในใจของผู้ให้บริการเป็นอย่างไรและก้าวต่อไปของเครือข่ายนี้จะออกมาไปในทิศทางใด

การถอดบทเรียน เรื่อง การพัฒนาเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยภายใต้ระบบบริการสุขภาพ ที่ได้ออกมาเป็น e-book ในชื่อ “การเดินทางของเครือข่ายอาสา RSA”เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้พยายามรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเครื่อข่าย ประสบการณ์การทำงานและบทเรียนจากผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มาร่วมกันพัฒนาให้เกิดเครือข่ายบริการสุขภาพที่ปลอดภัยและเป็นมิตรแก่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะไม่มีผู้หญิงคนไหนต้องตายจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยในประเทศไทยอีก

เขียนโดย admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *