แนวคิดของการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแบบองค์รวม หรือ Comprehensive Abortion Care (CAC) ได้ริเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยองค์การระหว่างประเทศด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ชื่อ Ipas เพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่เดิมเน้นขั้นตอนการบริการ ทางคลินิก ให้เป็นบริการที่ครอบคลุมทุกมิติของบริการสุขภาพสำหรับผู้หญิง โดยใช้หลักการของผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง ปัจจุบันนานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้ขยายบริการโดยใช้แนวคิดและแนวทางนี้
การศึกษาสถานะของบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแบบองค์ รวมในประเทศไทย ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยร่วมองค์การอนามัยโลกด้านการเจริญพันธุ์ในมนุษย์ (WHOCC for Research in Human Reproduction) ภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมพัฒนาเครือข่ายอาสา RSA (Association for RSA Development) และ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนการศึกษาวิจัยจาก องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาค เอเชียใต้และตะวันออก (WHO SEARO) โดยในช่วงเวลาที่ศึกษานี้ ประเทศไทย อยู่ในบริบทที่กำลังมีการปรับแก้กฎหมายอาญาว่าด้วยการทำแท้ง มีนโยบาย สุขภาพด้านประชากรและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภายใต้ระบบสุขภาพไทยที่มีการ อุดหนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์และการคุมกำเนิดกึ่งถาวรหลังยุติการตั้งครรภ์ รวมทั้งการสนับสนุนให้มีเครือข่ายส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ (Referral System for Safe Abortion: RSA เพื่อให้ผู้หญิงได้รับบริการที่ปลอดภัย
การศึกษาใช้เวลาทั้งสิ้น 4 เดือน (ตุลาคม 2563 – มกราคม 2564) ครอบคลุมการทบทวนนโยบายและรายงานการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความ พยายามของกระทรวงสาธารณสุขไทยและภาคีภาคเอกชนต่างๆ ในการวางแนว นโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อรองรับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย แบบองค์รวม มีการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบ ข้อเท็จจริงในการให้บริการรวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ เพื่อวิเคราะห์และสรุปข้อท้าทายและโอกาสในการพัฒนาบริการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวมในประเทศไทย
เอกสารรายงานการวิจัยนี้เป็นการจัดพิมพ์เฉพาะในส่วนของบทสรุป สำหรับผู้บริหาร โดยเน้นสาระสำคัญของผลการศึกษา ข้อค้นพบและข้อเสนอ แนะเพื่อการพัฒนา ผู้อ่านสามารถเข้าถึงหรือดาวน์โหลดรายงานศึกษาวิจัยฉบับ เต็มทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมพัฒนาเครือข่าย อาสา RSA คณะผู้ศึกษาวิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รายงานการศึกษาวิจัยนี้จะเป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาบริการ และการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สำหรับประเทศไทยต่อไป
Abortion_Care-2page
รายงานการศึกษาวิจัย บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยแบบองค์รวม ในประเทศไทย (ฉบับภาษาไทย)